แจกเงิน 2000 บาท ให้กู้ดอกต่ำ ลดภาษี มาตรการชุดที่ 1 ทุบเศรษฐกิจไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า วานนี้ (6 มี.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) โดยมีข้อสรุปมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ โดยได้มอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวร่วมกับนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.)

นายสมคิด กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสส่งผลกระทบไปมากทั่วโลกและการระบาดในขณะนี้ยังไม่ไปถึงจุดสูงสุดของโรค และจะกระทบเศรษฐกิจทุกภาคส่วน ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจำนวนมาก ไม่ใช่แค่ภาคท่องเที่ยว แต่ยังกระทบกับการผลิตและภาคบริการ การจ้างงาน ซึ่งการออกมาตรการในครั้งนี้ถือว่าเป็นมาตรการในชุดที่ 1 และเป็นมาตรการที่สะท้อน ความเป็นเอกภาพในการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง ธปท.และทุกฝ่าย จากนั้นต้องมีการประเมินสถานการณ์ เพราะข้างหน้าเราไม่สามารถควบคุมอะไรได้ เพราะเป็นสถานการณ์ของโลก อย่างไรก็ตาม นอกจากมาตรการเหล่านี้ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังไปหารือกับสำนักงบประมาณ ดูทั้งในส่วนข้อกฎหมายและความเหมาะสมของวงเงินที่จะจัดตั้งเป็นกองทุนเฉพาะขึ้นมาเพื่อรองรับวิกฤติที่เกิดขึ้น เช่น รองรับการตกงาน โดยเป็นการหาแหล่งเงินรองรับไว้ในกรณีจำเป็น แต่ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้ แต่ต้องมีเงินสำรองไว้

“มาตรการที่ออกมานั้น ในส่วนของการใช้เงินจะใช้อย่างระมัดระวังและจะออกมาให้ครอบคลุมหลายๆส่วน ถ้าฟังให้ครบจะรู้ว่าการให้เงินเป็นแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้น ผมเห็นมีข่าวออกมาแจกเงินกันเป็นแสนล้านบาทไม่รู้ไปเอาข่าวมาจากไหน ข่าวยังไม่คอนเฟิร์มไปเขียนได้อย่างไร ประเทศไม่ใช่ของเล่น หลังเข้า ครม.เศรษฐกิจแล้ว จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 มี.ค.นี้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และเรายังไม่รู้ว่าวิกฤติในขณะนี้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่”

ซอฟต์โลนดอก 2%-ลดขั้นต่ำ ผ่อนบัตรเครดิต 5%

ด้านนายอุตตม สาวนายนก รมว.คลัง กล่าวว่า มาตรการชุดแรก ประกอบด้วย มาตรการทางด้านการเงินและมาตรการด้านภาษี โดยมาตรการทางด้านการเงิน ได้แก่ 1.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ หรือซอฟต์โลน วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้แก่สถาบันการเงินอื่นๆ ที่ต้องการใช้สินเชื่อ โดยคิดดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการนำเงินดังกล่าวไปปล่อยกู้ต่อ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยกับลูกค้าไม่เกิน 2% 2.ปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้สถาบันการเงินพักชำระหนี้เงินต้น ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ

3.ปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้เป็น และที่ยังไม่ได้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็น–พีแอล) โดยขยายเวลารวมถึงลดค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมทั้งลูกหนี้รายย่อย เอสเอ็มอี ลูกหนี้รายใหญ่ ส่วนผู้ถือบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล จากหลักเกณฑ์การชำระหนี้ขั้นต่ำ 10% ธปท.ไฟเขียวให้ลดลงเหลือขั้นต่ำ 5% นอกจากนี้ สามารถรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตกับธนาคารออมสินได้ด้วย 4.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จากสำนักงานประกันสังคม โดยให้นายจ้างและลูกจ้างกู้เงินจากสำนักงานประกันสังคมได้เพื่อบรรเทาภาระและเป็นเงินทุนหมุนเวียน

เอสเอ็มอีนำค่าจ้างลดภาษี 3 เท่า

ส่วนมาตรการทางด้านภาษี มี 4 เรื่อง 1.ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้กับผู้ประกอบการเป็นการชั่วคราว เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ 2.ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กู้เงินซอฟต์โลน และผู้ประกอบการที่ทำบัญชีเล่มเดียวสามารถนำอัตราดอกเบี้ยจากเงินกู้นำไปคำนวณเป็นรายจ่ายได้ 3.มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำรายจ่ายมาหักลดหย่อนได้ 3 เท่า ช่วงระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-31 ก.ค.2563 และ 4.กระทรวงการคลังจะเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศเร็วขึ้น หากยื่นแบบทางอินเตอร์เน็ต จะได้รับคืนไม่เกิน 15 วัน ส่วนผู้ประกอบการที่ยื่นตามแบบปกติจะได้รับภาษีคืน 45 วัน

แจกเงินคนละ 2,000 บาท-จ่อ ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการเสริมเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือประชาชน ประกอบด้วย 1.การลดค่าธรรมเนียมและผลตอบแทนอื่นๆจากการเช่าที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ 2.ลดค่าน้ำและค่าไฟฟ้า โดยกระทรวงมหาดไทยกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา 3.ลดวงเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทั้งในฝั่งลูกจ้างและนายจ้าง 4.เร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณปี 2563 และ 5.มาตรการช่วยเหลือตลาดทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการออม หรือเอสเอสเอฟ จากเดิมที่กองทุนฯไม่ได้กำหนดสัดส่วนการลงทุน เป็นขยายเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ไม่น้อยกว่า 65% เพื่อไฟเขียวให้ บลจ.นำเงินจากเอสเอสเอฟไปลงทุนในตลาดหุ้นได้อย่างเต็มที่

ส่วนมาตรการดูแลประชาชนโดยแจกเงินให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อย เกษตรกรและผู้ประกอบการอาชีพอิสระรายละ 1,000 บาท 2 เดือน เริ่มเดือน เม.ย.และสิ้นสุดเดือน พ.ค. โดย กระทรวงการคลังจะจัดทำจำนวนเสนอต่อ ครม. โดยจะคัดกรองอย่างละเอียดเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและไวรัสโควิด-19

ประเมินเศรษฐกิจไทยทรุดยาว

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขาธิการนายก-รัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า จากการติดตามภาวะเศรษฐกิจในช่วงต้นปีนี้พบว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบหลายด้านทั้งการชะลอตัวของการส่งออก และการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดย ครม.เศรษฐกิจได้ปรับมุมมองต่อการแพร่ระบาดของโรคนี้จากเดิมคาดว่าจะสิ้นสุดได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มาเป็นเริ่มลดการแพร่ระบาดได้ในช่วงเดือน มิ.ย.ปีนี้ จากนั้นสถานการณ์จะเริ่มดีปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยสมมติฐานดังกล่าวหมายถึงประเทศไทยจะต้องไม่มีการเข้าสู่การระบาดในระยะที่ 3

“มุมมองต่อเศรษฐกิจขณะนี้จะมีผลกระทบที่ยาวนานขึ้นจากเรื่องโควิด-19 ดังนั้น การคาดการณ์จีดีพีของสภาพัฒน์ก็ควรมีการประเมินทั้งในรูปแบบของสถานการณ์ที่ร้ายแรง สถานการณ์ปกติตามการแพร่ระบาด”.

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top